นักเขียนรุ่นใหม่.. ไม่ได้ไส้แห้ง แนวทางสร้างอาชีพของคนชอบอ่าน-เขียน

cover-content-writer

หาก “นักเขียน” คืออาชีพในฝันของคุณ เราไม่อยากให้คุณนั้นต้องติดอยู่กับความคิดเดิม ๆ ว่า เป็น “เป็นนักเขียนต้องไส้แห้ง” ความคิดนี้เป็นความคิดที่เชยมาก ๆ เพราะปัจจุบันการเป็นผู้ที่ชื่นชอบการอ่านและเขียน สามารถต่อยอดมาเป็นรายได้ จัดว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูตนเองได้อย่างสบาย ๆ โดยบทความนี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของตนเอง จากการเป็นผู้ที่สามารถเลี้ยงชีพด้วยการ “เขียนบทความ” ในฐานะนักเขียน Freelance มาแล้วกว่า 2 ปี จะมีเรื่องราวไหนน่าสนใจกันบ้าง เชิญติดตามได้จากเนื้อหาต่อจากนี้ได้เลยครับ

 

“นักเขียน” อาชีพที่มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น ไร้ขอบเขต

writing

( ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay )

ในตอนนี้ผมสามารถเรียกตัวเองว่า เป็นผู้ที่มีอาชีพเป็น “นักเขียนฟรีแลนซ์” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ หลังจากผมได้ผ่านวิกฤติในชีวิตจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผมเคยเป็นเด็กที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร อยากมีฐานเงินเดือนสูง ๆ แต่ฝันนั้นก็สลายเมื่อเจ้าเชื้อไวรัสตัวร้ายมาระบาดในไทย ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของบ้านผมดิ่งลงเหว ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องออกจากการเรียนวิศวะกลางคัน ทั้ง ๆ ที่เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี ผมก็จะได้ทำตามความฝันของผมแล้ว….

หลังจากที่ต้องออกจากมหาลัยฯ กะทันหัน ผมได้ลองทำหลาย ๆ อาชีพ ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายหน แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก และไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผมสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้อีกครั้ง คือ “ความหลงใหลในการอ่านหนังสือ” ผมได้รับการชักชวนจากเพื่อนสนิทในอดีต ให้ลองผันตัวมาลองเป็นนักเขียน หลังจากผมได้ลองผิดลองถูกอยู่นาน ผมก็พบว่าอาชีพนักเขียนมีลักษณะงาน ที่ต่างจากงานที่ผมเคยคาดหวังอย่างวิศวกร แต่ว่า.. กลับมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก งานมีความหลากหลายในตัวงานที่เข้ามา มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น ไร้กฎเกณฑ์มาตีกรอบ ซึ่งนั่นทำให้คนที่หลงใหลในชีวิตอิสระอย่างผม ตกหลุมรักการเป็นนักเขียนเสียจนเต็มเปา

 

เพราะอะไร ? นักเขียนในยุคปัจจุบันถึงมีโอกาสมากกว่าในอดีต

writing

( ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay

แม้ผมจะใช่นักเขียนชื่อดังที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่เคยผ่านตีพิมพ์หนังสือเป็นของตนเอง และแน่นอนผมไม่ใช่ “นักเขียนที่เก่งที่สุด” แต่ผมเป็นนักเขียนอิสระที่สามารถเลี้ยงชีพจากการเขียนบทความได้อย่างสบาย ๆ มั่นใจเชื่อเหลือเกินว่า หากผมเกิดเร็วกว่านี้สัก 10-20 ปี สถานการณ์อาจไม่เป็นเช่นนี้ เพราะในอดีตอาชีพนักเขียนก็เป็นอย่างที่หลาย ๆ คนรู้นั่นก็คือ “ไส้แห้ง” มีนักเขียนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แตกต่างจากในตอนนี้ที่โอกาสต่าง ๆ เข้ามาถึงตัวนักเขียนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ในเนื้อหาต่อจากนี้ลองไปดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้นักเขียนในยุคปัจจุบัน ถึงมีโอกาสที่มากกว่านักเขียนในอดีต 

  • มีพื้นที่ให้โชว์ผลงานมากขึ้น

ปัจจุบันมีหลากหลายช่องทาง ที่สามารถเป็นพื้นที่ “ปล่อยของ” ของนักเขียนได้มากขึ้น ทั้งในส่วนของเว็บไซต์นักเขียนออนไลน์หลาย ๆ เว็บ , การสร้างแฟนเพจ Facebook , การเขียน Blog เป็นต้น นักเขียนหลายคนมีชื่อเสียงจากการเริ่มเป็น “นักเขียนออนไลน์” การมีพื้นที่ในช่องทางออนไลน์ สามารถโชว์ทักษะทางการเขียนของตนเองได้อย่างเต็มที่ มีพื้นที่สาธารณะให้มีผู้คนได้รู้จักมากขึ้น ทำให้โอกาสเข้ามาถึงตัวได้ง่ายกว่านักเขียนในอดีตนั่นเอง

  • ช่องทางสร้างรายได้มีหลายช่องทาง

การเป็นนักเขียนสามารถสร้างเงินเดือนได้จากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะทำเป็นงานประจำ หรือเป็นอาชีพอิสระ มีหลายแพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้งานเขียนของคุณเปลี่ยนเป็นรายได้ เพราะในปัจจุบันงานเขียนถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ช่องทาง มีการรับสมัครนักเขียนออนไลน์ใน Community นักเขียนอยู่เป็นประจำ คุณไม่จำเป็นต้องเดินหางานให้เหนื่อยเหมือนในอดีต ขอเพียงมีความคิดสร้างสรรค์ มั่นใจในฝีมือของตนเอง เพียงเท่านี้เงินก็จะมาเคาะประตูบ้านของคุณเอง โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องวิ่งตามมันให้เหนื่อยอีกต่อไป

  • สามารถเข้าถึงเทคนิคดี ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ผมเคยถูกถามจากคนรู้จักหลาย ๆ คนว่า “เป็นนักเขียน เรียนจบคณะอะไรมา ?” ผมมักตอบติดตลกไปว่า “จบปริญญาใจครับบบ..!” เพราะอย่างที่เกริ่นไปว่าผมเรียนไม่จบ ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหาอะไรกับอาชีพนี้เลยครับ การเป็นนักเขียนออนไลน์คุณสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากหลายช่องทาง มีหลายคลิปวิดีโอใน Youtube ที่สอนว่าคุณควรเริ่มต้นอย่างไร มีบทความจากหลาย ๆ เว็บไซต์ที่แนะนำว่าควรเขียนอย่างไร ความรู้ดี ๆ มีอยู่ทั่วอินเทอร์เน็ต ขอเพียงคุณตั้งใจจริง มีเพียง “ความรู้เกี่ยวกับหลักไวยากรณ์” ที่คุณอาจต้องเป๊ะสักหน่อยเท่านั้นเอง

 

คุณสมบัติของการเป็นนักเขียนที่ดีมีอะไรบ้าง ?

  • มีความรับผิดชอบ แม้เป็นอาชีพอิสระ แต่งานโดยส่วนมากก็จะกำหนดเส้นตายเอาไว้ ควรส่งงานให้ตรงต่อเวลามากที่สุด
  • เข้าใจหลักการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ไม่ว่าคุณจะเขียนเป็นภาษาอะไร ต้องเข้าใจหลักไวยากรณ์ของภาษานั้น ๆ เป็นอย่างดี 
  • เป็นผู้ที่หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ ถึงแม้จะเป็นอาชีพอิสระที่ไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่นักเขียนกับความรู้เป็นของคู่กัน ห้ามหยุดเรียนรู้แม้แต่วินาทีเดียว
  • ต้องมีความรอบคอบ ทุกครั้งที่มั่นใจว่างานเขียนของตนเองเสร็จแล้ว การตรวจทานคือขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ไม่ควรปล่อยงานเขียนที่มีคำผิดหลุดออกไปสู่ลูกค้าแม้แต่คำเดียว

 

4 เทคนิคเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นนักเขียนมืออาชีพ

ค่าตอบแทนของการเป็นนักเขียนออนไลน์ สามารถตัดสินกันด้วย “ฝีมือการเขียน” และ “จำนวนงานที่เขียนได้” ยิ่งคุณเขียนเก่งเท่าไหร่ เขียนได้เยอะเท่าไหร่ ค่าตอบแทนที่คุณได้รับก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย การเขียนบทความนั้น หากคุณมั่นใจในฝีมือตนเอง สามารถกำหนดราคาให้กับงานตนเองได้ จากประสบการณ์ของผม ยิ่งลูกค้าพึงพอใจในคุณภาพของงานมากเท่าไหร่ การเรียกราคางานก็จะสามารถทำได้สูงมากเท่านั้น

แต่.. จะทำอย่างไรให้คุณเปลี่ยนจาก “นักเขียนมือสมัครเล่น” ให้กลายเป็น “นักเขียนมืออาชีพ” ผมมี 4 เทคนิคดี ๆ ที่ช่วยพัฒนาฝีมือการเขียนบทความของคุณได้อย่างรวดเร็ว โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

 

1.อยากเป็น “นักเขียน” ที่เก่ง ต้องเป็น “นักอ่าน” ที่ดี

book

( ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay

การทำงานนักเขียนออนไลน์สิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรหยุดเลยก็คือ “การอ่าน” การอ่านจะช่วยให้คุณสามารถพัฒนางานเขียนของตนเองได้เร็วที่สุด ซึ่งคุณอาจไม่จำเป็นต้องไปซื้อหนังสือมาอ่าน ไม่จำเป็นต้องนั่งแปลบทความภาษาต่างประเทศ เริ่มต้นจากการ “อ่านงานของตนเอง” ลองนึกภาพในใจว่าเราเป็นคนอ่าน เราจะอยากให้เนื้อหาในบทความของเราเป็นอย่างไร มองหาข้อผิดพลาดในงานเขียนของตนเองให้พบ ปรับแก้ไขจนกว่าตนเองจะพึงพอใจ เมื่อคุณอ่านงานเขียนตนเองแล้วชอบ นั่นคือการพัฒนาอีก 1 ก้าว ในฐานะนักเขียน

 

2.แยกแยะให้ออกระหว่าง “Reference” กับ “Plagiarism”

confusing

( ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay

ผมมั่นใจว่าในชีวิตนักเขียน ตื่นเช้ามาสิ่งที่จะคิดอันดับแรก ๆ คือ “ เขียนบทความเรื่องอะไรดี ? ” การเปิดอินเทอร์เน็ตเพื่อหาบทความอ่าน หาเนื้อหาจากข่าวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจของการเขียน หรือเป็นเนื้อหาอ้างอิงในงานที่ถูกว่าจ้าง เป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่คุณควรแยกให้ออกว่าการนำข้อมูลมานั้น เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อเป็น Reference (ข้อมูลอ้างอิง) มิใช่การใช้ข้อมูลเพื่อ Plagiarism (คัดลอกเนื้อหา) กันแน่ งานเขียนที่ดีควรศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้ง คิด วิเคราะห์ จนตกตะกอนเป็นเนื้อหาใหม่ ไม่ใช้การดัดแปลงเนื้อหาเดิมให้เป็นบทความใหม่

 

3.ทุกบทความต้องมี “ใจความสำคัญ”

writing( ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay

การเขียนบทความทุกบท ควรมีใจความสำคัญอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบทความที่ยาวหรือสั้นเพียงใด และจะต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหัวข้อที่เลือกเขียนบทความบทนั้น ๆ ด้วย ให้นึกเสมอว่าหากคุณเป็นผู้อ่าน คุณจะได้รับอะไรกลับไปเมื่ออ่านบทความนี้จนจบ ไม่ควรเขียนไปเรื่อย ๆ เขียนตามฟีลลิ่งแต่ไม่ได้ใจความอะไรเลย ดังนั้นก่อนเขียนบทความทุกบท ควรกำหนดใจความสำคัญ แนวทางของเนื้อหา หัวข้อแต่ละหัวข้อ รวมไปถึง Mood & Tone ของบทความก็เป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน

 

4.เรียนรู้ศาสตร์อื่น ๆ เพื่อต่อยอดให้บทความมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบันบทความไม่ได้มีไว้เพื่ออ่านแล้วได้ความรู้ ความบันเทิง เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการทำ Online Marketing อีกด้วย เพราะในทุกธุรกิจในปัจจุบัน หากอยากเติบโตอย่างรวดเร็ว การทำการตลาดออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งที่อยู่คู่กับการตลาดออนไลน์คือ การทำ SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งทำให้การเขียนบทความที่รองรับหลักการ SEO เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น หากคุณไม่อยากให้งานเขียนของคุณตกยุค ควรศึกษาในศาสตร์อื่น ๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกับงานเขียนของคุณได้ การพัฒนาในอาชีพนักเขียนเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ อย่างที่ผมได้บอกไปข้างต้นว่า “นักเขียนที่ดี.. ไม่ควรหยุดพัฒนาแม้แต่วินาทีเดียว

 

บทส่งท้าย

หากคุณเคยคิดว่าการมีความฝันอยากเป็นนักเขียน เป็นความฝันที่เพ้อเจ้อ เป็นความฝันลม ๆ แร้ง ๆ ผมอยากให้คุณละทิ้งความคิดเหล่านั้นออกไปทั้งหมด การเป็นนักเขียนไม่ได้ไส้แห้ง ขอเพียงคุณปรับแนวทางการเขียนของคุณให้ทันสมัย ปรับตัวตามกระแสของโลก การเขียนบทความออนไลน์ช่วยสร้างอาชีพได้จริง ผมพิสูจน์มาด้วยตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้นักเขียนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ตนเองรัก กล้าที่จะเดินตามทางที่ฝันได้มากยิ่งขึ้น สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนจบนะครับ.. สวัสดีครับ

Written by Freelance Fastwork: ปิยพันธ์

สนใจจ้างงานฟรีแลนซ์ได้ที่ https://fastwork.co/user/jmpiyapan/content-writing-94844287

เขียนบทความ content writing

ฟรีแลนซ์ในหมวด เขียนบทความ

ฟรีแลนซ์ในหมวด เขียนและแปลภาษา

Related Posts
This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.