8 ข้อสำคัญ สำหรับการ “ออกแบบแพ็กเกจ” อย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ

cover-packaging

บรรจุภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิ้งเป็น ‘สิ่งแรก’ ที่ผู้บริโภคทุกคนจะได้เห็น และสัมผัส ก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเข้าไปทำความรู้จัก กับผลิตภัณฑ์ที่คุณตั้งใจสร้างสรรค์ คัดเลือกมา เปรียบดั่งหน้าตาที่จะสร้างความประทับใจแรกเห็น

เราสามารถแสดงออกความเป็นตัวเองผ่านสไตล์การแต่งตัว จัดแต่งทรงผม ไม่ต่างกับบรรจุภัณฑ์ที่มีหน้าที่สื่อสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และอัตลักษณ์ของแบรนด์ ดังนั้นเราควรพิจารณาบรรจุภัณฑ์มากกว่าแค่ในแง่ความสวยงามเมื่ออยู่ในชั้นวางสินค้า หรือในร้านค้าออนไลน์ และนี่เป็น 8 ข้อสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณสร้างสรรค์ ‘แพ็กเกจ’ ได้อย่างมีเอกลักษณ์ และมีประสิทธิภาพ 

 1.ทำความรู้จักกับสินค้า และแบรนด์อย่างถีถ้วน (Brand Experience) 

ปัจจุบัน ‘แพ็กเกจ’ ทำหน้าที่มากกว่าแค่การบรรจุสิ่งของ แต่ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อสารทางการตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านของการสร้างอัตลักษณ์ (Brand Identity) การสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค (Intimacy) ไปถึงการเชื่อมการสื่อสารไปสู่ช่องทางอื่นๆ ของแบรนด์ (Integration)

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะออกแบบแพ็กเกจสำหรับผลิตภัณฑ์ชนิดใด สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ แบรนด์ที่เรากำลังจะทำงานด้วยมีภาพลักษณ์แบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไร มีสินค้าอะไรบ้าง เพราะการออกแบบแพ็กเกจนั้นควรไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของแบรนด์ 

เช่น BunnyBoo จำหน่ายสินค้าสำหรับเด็ก มีภาพลักษณ์ สนุกสนาน เป็นกันเอง เข้าถึงง่าย ทันสมัย ต้องการสื่อสารถึง ความอ่อนโยน และเอาใจใส่ของแบรนด์ การออกแบบแพ็กเกจสินค้าจึงควรสื่อสารไปในทิศทางดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สี ข้อความ สัญลักษณ์ กราฟฟิค อย่างเหมาะสม เป็นต้น

bunnyboo

 

2.พิจารณากลุ่มผู้บริโภค และประสบการ์ณการใช้ (User Experience) 

แพ็กเกจ ที่คุณออกแบบจะไปอยู่ในมือผู้ใช้ประเภทใด การทำความรู้จักกลุ่มผู้บริโภคของผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด และพิจารณาถึงขั้นตอนการใช้งานจะเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ช่วยให้เราสร้างสรรค์ประสบการ์ณที่ดี และแตกต่างให้กับตัวผลิตภัณฑ์   

เช่น กรณีศึกษาอย่าง Heinz ซอสมะเขือเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์จากขวดซอสแบบตั้งที่มักจะพบเจอปัญหาซอสข้างในไม่ไหลลงมา ทำให้ผู้บริโภคใช้งานอย่างลำบาก เปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่เป็นขวดแบบคว่ำลง และสามารถบีบได้ เพื่อแก้ปัญหา และสร้างประสบการ์ณที่ดีให้กับผู้ใช้ เป็นต้น 

heinz

 

3.พิจารณาข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Requirement)  

การพิจารณาถึงข้อกำหนด หรือปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องมี เป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องรู้ก่อนที่จะลงมือ

ออกแบบ เพราะข้อจำกัดเหล่านี้จะส่งผลต่อการเลือกใช้วัสดุ  รูปทรง รวมถึงภาพรวมของบรรจุภัณฑ์  เช่น

 

  • บรรจุภัณฑ์นี้ของคุณจำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลใดๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นข้อบังคับหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลโภชนาการ คำแนะนำด้านความปลอดภัย การเก็บรักษา เครื่องหมายที่จำเป็นทั้งหมด ตรวจสอบก่อนที่คุณจะเริ่มการออกแบบ เพื่อให้รู้ว่าคุณต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่
  • บรรจุภัณฑ์คุณเป็นประเภทใช้ครั้งเดียว หรือต้องใช้บรรจุคู่กับผลิตภัณฑ์จนกว่า ผลิตภัณฑ์นั้นจะหมด หากเป็นเช่นนี้อาจจำเป็นต้องมีซิปสูญญากาศสำหรับป้องกันผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 
  • ผลิตภัณฑ์คุณมีคุณสมบัติใดที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น โดนแสงได้ไหม ต้องมีการระบายอากาศไหม ต้องกันความชื้นไหม เป็นต้น
  • บรรจุภัณฑ์คุณต้องคำนึงถึงการขนส่ง หรือจัดเก็บหรือไม่  จำเป็นต้องมีความสามารถในการวางซ้อนกันไหม เป็นต้น

 

ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น บรรจุภัณฑ์ แต่ละชิ้นล้วนมีโจทย์ความต้องการเฉพาะต่างกัน

ออกไป จึงควรศึกษาให้รอบคอบก่อนที่คุณจะเริ่มลงมือออกแบบ

 

4.การเลือกใช้วัสดุของแพ็กเกจ (Materials) 

วัสดุที่เลือกใช้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ เลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ หากผลิตภัณฑ์คุณเป็นสินค้าชั้นสูง (High-End) วัสดุที่เลือกใช้อาจะต้องสื่อถึงความรู้สึกหรูหรา และปราณีต หรือหากแบรนด์คุณมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) วัสดุที่เลือกในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ก็ควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลาย หรือรีไซเคิลได้ และลดจำนวนชั้นของหีบห่อเพื่อลดขยะ เป็นต้น 

 

5.เลือกข้อความที่ชัดเจน และกระชับ (Right Wording) 

ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูล และข่าวสารนับไม่ถ้วน ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะมองผ่านกลุ่มตัวอักษรที่ยาวเป็นพรืด และอ่านเพียงหัวข้อ หรือข้อควานสั้นๆเท่านั้น การเลือกคำเพื่อใช้ในการออกแบบแพ็กเกจจึงควรเลือกคำที่ กระชับ และความหมายชัดเจน ให้รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์คืออะไร ทำไมพวกเขาถึงต้องใช้มัน หลีกเลี่ยงการใส่ข้อความหรือกราฟฟิคที่มากเกินไป เรามีเวลาไม่กี่วินาทีในการดึงดูดความสนใจอย่าเสียมันไป! 

 

6.หลีกเลี่ยงข้อมูลที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด (Be Honest)

สิ่งที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ควรตรงกับสิ่งที่อยู่ภายใน บางครั้งเราต้องการดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ ด้วยการเลือกใช้คำ ภาพ หรือกราฟฟิคที่แสดงถึงคุณสมบัติที่เกินจริง หรือกำกวม ทำให้ผู้บริโภคคาดหวัง หรือเข้าใจเกี่่ยวกับตัวสินค้าผิดไป คุณอาจสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ในครั้งแรก แต่เมื่อผู้บริโภคใช้งานจริงแล้วพบว่าคุณสมบัติไม่ตรงตามที่แจ้งมา ก่อให้เกิดความผิดหวัง ทั้งยังสร้างภาพลัษณ์ และชื่อเสียงที่ไม่ดีต่อแบรนด์  หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคุณอาจถูกปรับจากการฟ้องร้องได้ 

 

7.มั่นใจว่าบรรจุภัณฑ์ของคุณแตกต่าง (Unique)

นอกเหนือจากให้ความสนใจกับการออกแบบแพ็กเกจสินค้าเราแล้ว ยังควรศึกษาบรรจุภัณฑ์ของ

แบรนด์อื่นๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมสินค้าประเภทเดียวกัน คุณควรคำนึงถึงภาพที่ แพ็กเกจของคุณถูกนำไปวางคู่กับแพ็กเกจของคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นบนชั้นวางสินค้า บนร้านค้าออนไลน์  หรือช่องทางอื่นๆ คุณอาจจะต้องสร้างเอกลักษณ์บางอย่างที่ทำให้แพ็กเกจของคุณโดดเด่นออกมา ไม่ว่าจะเป็น รูปทรงที่แปลกใหม่ โทนสีที่มีความเฉพาะ ไม่ซ้ำกับแบรนด์คู่แข่ง เป็นต้น 

 

8.การผลิต และนำมาใช้งานจริง (Manufacture)

ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการสุดท้ายของการออกแบบ คุณควรนำแบบไปพูดคุยกับผู้ผลิตจริง และอธิบายถึงความต้องการของคุณ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นจากกระบวนการการผลิต และนำมาแก้ไขก่อนที่จะทำการสรุปแบบในขั้นตอนสุดท้าย เพราะบางครั้งอาจะมีอุปสรรคบางอย่างจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีการผลิต หรือเครื่องพิมพ์ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ตามแบบที่คุณต้องการ หรืออาจมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมากเกินกว่าที่คุณตั้งไว้ 

Written by Freelance Fastwork: Chawit

สนใจจ้างงานฟรีแลนซ์ได้ที่ https://fastwork.co/user/chakid/packaging-79996425

 

ฟรีแลนซ์ในหมวด Uncategorized

Related Posts
This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.