การเริ่มต้นธุรกิจในความคิดของใครหลายๆ คน มักมองว่ามีขั้นตอนยุ่งยากและต้องใช้เอกสาร ระยะเวลา และการวางแผนต่างๆ มากมาย แต่การด่วนสรุปโดยไม่หาข้อมูลอย่างละเอียดอาจทำให้คุณพลาดการเริ่มต้นธุรกิจในฝันของคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ การเติบโตทางธุรกิจควบคู่มากับความเชื่อมั่นของธุรกิจด้วยเช่นกัน การจดทะเบียนบริษัทจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บทความนี้ Fastwork เราได้สรุปเนื้อหาสาระสำคัญในการ จดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง มาให้เหล่าเจ้าของกิจการต่างๆ ที่มีแผนจะจดทะเบียนบริษัทได้ทำความเข้าใจแบบเจาะลึก สามารถปฏิบัติตามได้ง่ายๆ
การจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองสามารถทำได้กี่ช่องทาง
ในกรณีที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง สามารถทำได้ทั้งหมด 2 ช่องทาง โดยการยื่นขอจดทะเบียนพร้อมเอกสารต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ การยื่นขอจดทะเบียนบริษัทผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th
ขั้นตอนการจองชื่อบริษัทก่อนการขอจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง
ก่อนที่จะยื่นขอจดทะเบียนบริษัท จะต้องเริ่มต้นจากการตั้งชื่อบริษัทของธุรกิจคุณ โดยจะต้องตั้งชื่อตามหลักการและข้อกำหนดการจองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่ใช้จะต้องไม่ซ้ำ หรือ คล้าย กับบริษัทอื่นๆ ที่ได้ทำการจดทะเบียนไปแล้ว ควรเป็นชื่อที่เข้าใจง่าย กระชับได้ใจความ ไม่ควรใช้คำไม่สุภาพ หยาบคาย และ ไม่ควรใช้ชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ หน่วยงานราชการ ซึ่งหลักเกณฑ์การขอชื่อนิติบุคคล ได้ระบุการไว้ดังต่อไปนี้
-
- ไม่ควรใช้พระนามของพระมหากษัตริย์ หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน หรือ รัชทายาท เว้นแต่ได้รับพระบรมราชานุญาต
- ชื่อประเทศ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในวงเล็บต่อท้ายชื่อ และอยู่หน้าคำว่า “จำกัด”
- ชื่อที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน หรือ องค์การระหว่างประเทศเป็นเจ้าของ หรือผู้ดำเนินการ
- ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ หน่วยงาน หรือ องค์กรของรัฐ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
การจองชื่อบริษัทเพื่อขอจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง สามารถทำได้ทั้งหมด 2 ทาง ได้แก่
-
- จองผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือ กรณีที่สถานประกอบการอยู่ต่างจังหวัด สามารถจองที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด
- จองผ่าน www.dbd.go.th โดยการกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
การจองชื่อนิติบุคคลจะเป็นได้ทั้งผู้ถือหุ้น หุ้นส่วนผู้จัดการ(กรณีห้างหุ้นส่วน) หรือ กรรมการ(กรณีบริษัท) เป็นผู้ยื่นขอจองชื่อได้ทั้งสิ้น โดยที่บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ลงนามในใบอนุมัติจองชื่อดังกล่าว ทั้งนี้สามารถจองชื่อเพื่อขอจดทะเบียนบริษัทได้ 3 ชื่อ ซึ่งนายทะเบียนจะรับการพิจารณาชื่ออันดับแรกก่อนเสมอ หากพิจารณาแล้วว่าชื่ออันดับแรกไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทางนายทะเบียนจะพิจารณาชื่อถัดไปตามลำดับ
การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน
เมื่อนายทะเบียนแจ้งผลการรับรองชื่อบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการยื่นหนังสือบริคณห์สนธิภายใน 30 วัน นับจากวันที่แจ้งผล เป็นหนังสือที่ใช้เพื่อแสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท โดยจะมีการระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์ ที่อยู่บริษัท จำนวนหุ้น และข้อมูลผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 3 คน รวมไปถึงขึ้นต้นว่าบริษัทและลงท้ายด้วยคำว่าจำกัด
จัดให้มีการจองซื้อหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้น
จัดให้มีการจองซื้อหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้น หลังจากจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งเท่านั้น ซึ่งทุกคนสามารถถือหุ้นได้คนตั้งแต่ 1 หุ้นหรือมากกว่า เมื่อมีการขอซื้อหุ้นบริษัทจนครบ จะต้องทำการออกหนังสือเพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันหลังก่อนวันประชุม
การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท
เป็นการจัดประชุมโดยมีวาระการประชุม ดังนี้
-
- การตั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัท
- การเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัท และ อำนาจของคณะกรรมการ
- การเลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อตรวจสอบและรับรองงบการเงิน (แต่งตั้งบุคคลธรรมดาเท่านั้น)
- การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเอง
- กำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ รวมถึงการกำหนดสภาพ และ บุริมสิทธิของหุ้นบุริมสิทธิ
- การเรียกชำระค่าหุ้น
- กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่มกิจการหรือผู้ก่อตั้ง (ถ้ามี)
เลือกคณะกรรมการบริษัทเพื่อดำเนินการกิจกรรมต่างๆ
เลือกคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่และดำเนินการต่างๆ ในนามของบริษัทแทนผู้ก่อตั้ง และเริ่มหน้าที่ด้วยการเก็บค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของราคาหุ้นจริง เมื่อเก็บครบจำนวนแล้ว จึงจะทำการขอจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเอง โดยทำการยื่นจดทะเบียนภายในเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่จัดการประชุม ในกรณีที่มีความล่าช้าเกินระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าการประชุมเป็นโมฆะและจะต้องทำการจัดประชุมผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้ง
ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท
การจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเอง มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งคำนวณจากเงินทุนจำนวนแสนละ 50 บาท (จำนวนเศษที่เกินมาไม่ว่าจะมีค่าเป็นเท่าใดก็ตาม ให้คิดจำนวนเต็มแสนเท่านั้น) โดยการชำระค่าธรรมเนียมมีกำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท
ในส่วนของค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท จะคำนวณตามทุนการจดทะเบียนแสนละ 500 บาทเช่นเดียวกัน โดยการชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท
-
- ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
- ค่าธรรมเนียมใบสำคัญการแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
- ค่าธรรมเนียมรับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
ขั้นตอนสุดท้ายของการยื่นขอจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัทและมอบหนังสือรับรองให้กับผู้ยื่นขอแล้ว นับว่าบริษัทได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีสิทธิและหน้าที่สมบูรณ์ตามที่บริษัทพึงมีทุกประการ
เพียงไม่กี่ขั้นตอนนี้คุณก็สามารถทำการจดทะเบียนบริษัทได้อย่างถูกต้องแล้ว แต่หากใครที่ต้องการความสะดวก ไม่มีเวลาดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ต้องการประหยัดเวลาในการจดทะเบียนบริษัท ก็สามารถเลือกใช้บริการรับจดทะเบียนบริษัทจาก Fastwork.co ได้ง่ายๆ เพียงแค่ เข้าไปที่เว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชัน Fastwork จากนั้นค้นหาฟรีแลนซ์รับจดทะเบียนบริษัทที่คุณสนใจ โดยคุณสามารถพูดคุยรายละเอียดงานก่อนขอใบเสนอราคาการจ้างงานเพื่อพิจารณาจ้างงาน และสามารถชำระเงินผ่าน Fastwork ได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งคุณจะมั่นใจได้ว่าผลงานที่ได้รับนั้นตอบโจทย์ความต้องการและคุ้มค่าคุ้มราคาแน่นอน