5 ที่สิ่งต้องรู้ก่อนยื่นภาษีสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ
ภาษี เป็นความรับผิดชอบของทุกคนเมื่อมีรายได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ที่มีรายได้ประจำ อย่างข้าราชการ หรือพนักงานออฟฟิศเท่านั้น แต่ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน อย่างฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า หรืออาชีพอื่น ๆ เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบภาษีเพื่อแสดงรายได้ที่มีและเสียภาษีเช่นกัน สำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ การยื่นภาษีด้วยตนเอง อาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ฉะนั้น วันนี้เราจะมาแนะนำ 5 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนยื่นภาษี รวมทั้งทริคการประหยัดภาษี สำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ มาฝากกัน
1. สำรวจอาชีพของตัวเอง
ผู้ไม่มีรายได้ประจำ หมายถึง ผู้ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอหรือไม่แน่นอน ซึ่งในขั้นแรก เราต้องรู้ก่อนว่าแหล่งรายได้ของเราเป็นรายได้ประเภทไหน โดยหลัก ๆ เราขอแบ่งย่อยเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เป็น 4 ประเภท ดังนี้
- กลุ่มฟรีแลนซ์ คือ บุคคลทำงานให้กับลูกค้าตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา เช่น รับจ้างเขียนบทความ กราฟฟิกดีไซน์ วาดภาพ หรือออกแบบ
- กลุ่มผู้ประกอบการ คือ ผู้ที่มีการลงทุนทำธุรกิจ โดยสถานะสามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น ขายของออนไลน์
- กลุ่มวิชาชีพอิสระ เป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ เช่น นักบัญชี นักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก ช่างประณีตศิลป์ และการประกอบโรคศิลป์
- กลุ่มอาชีพผู้รับเหมา ทั้งรับเหมาก่อสร้างและรับเหมาผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งไม่ได้เป็นสินค้าที่ทำขายเป็นปกติ
2. รู้แหล่งที่มาของรายได้ และการหักค่าใช้จ่าย
เมื่อรู้กลุ่มอาชีพของตนเองแล้ว ต่อมาเราจะสามารถรู้ได้ว่าแหล่งที่มาของรายได้ของเรา คืออะไร และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร ซึ่งแหล่งที่มาของรายได้และค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี เพื่อให้ได้รายได้สุทธิ เช่น ฟรีแลนซ์ รายได้ของฟรีแลนซ์จะเรียกว่า ค่าจ้าง จัดอยู่ในแหล่งรายได้ประเภทที่ 2 ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือ กลุ่มผู้ประกอบการ แหล่งรายได้ของผู้ประกอบการจัดอยู่ในประเภทที่ 8 ตามประมวลรัษฎากร โดยการหักค่าใช้จ่ายจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ คือ หักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายครบถ้วน) และหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประเภทเป็นจัดอยู่ในกลุ่มผู้ไม่มีรายได้ประจำ แต่แหล่งที่มาของรายได้ต่างกัน ทำให้การหักค่าใช้จ่ายของทั้ง 2 ประเภท คือมีความแตกต่างกันไปด้วย
3. เช็คภาษี หัก ณ ที่จ่าย
เมื่อรู้แหล่งที่มาของรายได้และค่าใช้จ่ายแล้ว สิ่งที่เราควรรู้คือ ในกลุ่มอาชีพผู้ไม่มีรายได้ประจำ จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งหมายถึง เงินภาษีที่มีการหักไว้ล่วงหน้า โดย ‘ผู้หัก’ คือ ผู้ที่มีสถานะเป็นบริษัทหรือนิติบุคคล หักจากผู้รับเงินที่เป็นนิติบุคคลหรือคนธรรมดาก็ได้ ซึ่งผู้มีรายได้ไม่ประจำจะถูกหักในส่วนนี้ด้วย อย่างเช่น กลุ่มอาชีพอิสระ จะถูกภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งผู้จ้างจะเป็นคนหักก่อนจ่ายเงินค่าจ้าง
4. เช็คลดหย่อนช่วยลดภาษี
ลดหย่อนภาษี คือ รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา โดยให้นำไปหักออกจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งจะทำให้เราจ่ายภาษีน้อยลง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
- ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส
- ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน เช่น เงินประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์
- ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค เช่น เงินบริจาคทั่วไป เงินบริจาคเพื่อการศึกษา
โดยสามารถดูค่าลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.rd.go.th/557.html
5. ดูฐานภาษีและการคำนวณภาษี
ฐานภาษี คือ ฐานจำนวนเงินได้สุทธิที่ใช้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษี สำหรับบุคคลธรรมดา จะมีวิธีในการคำนวณดังนี้
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
แล้วนำเงินได้สุทธิมาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเงินได้สุทธิ 0-150,000 บาทต่อปี กลุ่มนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี และจะเริ่มต้นจ่ายภาษีที่ 5% ในขั้นของเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี และเกณฑ์อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% ซึ่งกลุ่มนี้จะมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไปต่อปี
แต่หากมีสถานะเป็นนิติบุคคล ฐานภาษีจะเรียกเก็บจากกำไรสุทธิทางภาษี ซึ่งมีวิธีในการคำนวณดังนี้(รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
ทริคในการประหยัดภาษี สำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ
1. จดบันทึกข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน
การมีรายได้ไม่ประจำ ทำให้เราไม่สามารถรู้จำนวนรายรับที่ชัดเจนในแต่ละเดือนได้ ดังนั้น
- บุคคลธรรมดา ควรจดบันทึก ทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ตลอด เพื่อให้ทราบรายละเอียดในแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น
- นิติบุคคล ผู้มีรายได้ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจะต้องมีการทำบัญชี เพื่อบันทึกรายการค้าขายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของกิจการ จำแนกและสรุปผลให้ได้ข้อมูลทางบัญชี เพื่อนำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร
2. ต้องขอและเก็บใบหัก ณ ที่จ่าย ทุกครั้ง
เมื่อกลุ่มฟรีแลนซ์ กลุ่มวิชาชีพอิสระ หรือกลุ่มผู้รับเหมาทำงาน เมื่อได้รับค่าจ้างจะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้ง ที่โดยสิ่งที่สำคัญคือ ต้องขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) จากผู้ว่าจ้างทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นภาษีและประโยชน์ในการขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไป
3. วางแผนโดยการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี
การเพิ่มค่าลดหย่อนเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมที่สุดสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้รายได้สุทธิลดลง โดยการใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือท่องเที่ยวในประเทศ เป็นต้น
4. แยกบัญชีธุรกิจออกจากบัญชีส่วนตัว
อย่างที่บอกไปว่าผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ จำเป็นต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ตลอด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการยื่นภาษี
- บุคคลธรรมดา ควรแยกบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจออกมาต่างหาก
- นิติบุคคล เจ้าของกิจการต้องไปเปิดบัญชีธนาคารในชื่อบริษัท ไม่ควรใช้บัญชีส่วนตัวรวมกับบัญชีธุรกิจ เนื่องจากจะไม่เห็นผลประกอบการที่แท้จริง หรือเมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจเอกสารจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ
จากทริคที่ได้นำเสนอไป คงทำให้หลายคนเข้าใจขั้นตอนการยื่นภาษีมากขึ้น แต่ถ้าหากยังกังวล เช่น เตรียมเอกสารบางอย่างไม่ครบ ยื่นผิด หรือยังมีข้อมูลที่ยังไม่เข้าใจ เราข้อแนะนำให้รู้จักกับ Fastwork.com แหล่งรวมนักบัญชีมือโปร ที่พร้อมช่วยให้คุณจัดการด้านบัญชี ภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่คุ้มค่า
Written by Freelance Fastwork: Chitanan
สนใจจ้างงานฟรีแลนซ์ได้ที่ https://fastwork.co/user/prapang/financial-77910178