ภาษี (Tax) คือสิ่งแรกที่คุณต้องเผชิญเมื่อเข้าสู่โลกของพนักงานเงินเดือน ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีรายได้มากหรือน้อยเพียงใด ตราบใดที่คุณมีรายได้ คุณก็ต้องเสียภาษี อันเป็นหน้าที่โดยพื้นฐานของพลเมืองทุกคนในประเทศไทย ไม่มีการละเว้น แต่อาจสามารถลดหย่อนได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเงื่อนไขต่าง ๆ โดยการเสียภาษีนี้ ใครหลายคนอาจจะได้เรียนมาบ้างในรั้วโรงเรียน หรือเคยเรียนมาแต่ลืมไปแล้ว เนื่องจากไม่เคยได้เสียภาษีเป็นกิจจะลักษณะมาก่อน ในบทความนี้จึงจะพาพนักงานเงินเดือนมือใหม่ทุกท่านมาเรียนรู้เกี่ยวกับภาษี และการวางแผนภาษีให้ชีวิตดี ๆ ของคุณไม่ต้องสะดุด
ภาษีของพนักงานเงินเดือน มีอะไรบ้าง
สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของพนักงานเงินเดือนมือใหม่เลย ไม่ใช่การปรับตัวเข้ากับชีวิตการทำงานรายเดือน ไม่ใช่การเอาตัวรอดในสังคมการทำงาน และยังไม่อาจเตรียมการลงทุนหรือวางแผนอนาคตขั้นต่อไปได้ ถ้าหากคุณยังไม่ได้วางแผนภาษีไว้ให้ดี ซึ่งภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา มีทั้งหมดดังต่อไปนี้
-
- ภาษีเงินได้จากแรงงาน
- ภาษีเงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงาน
- ภาษีเงินได้จากทรัพย์สินทางปัญญา
- ภาษีเงินได้จากผลตอบแทน
- ภาษีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์ หรือการผิดสัญญาเช่า
- ภาษีเงินได้จากวิชาชีพอิสระ
- ภาษีเงินได้จากการรับเหมา
- ภาษีเงินได้จากการประกอบธุรกิจ
ซึ่งภาษีเงินได้สำหรับพนักงานเงินเดือนส่วนใหญ่ มักจะเป็นภาษีเงินได้ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 โดยภาษีนั้นจะคิดจากเงินที่คุณมีเหลือ หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากมีรายได้จากประเภทที่ 1 และ 2 จะเป็นการคิดจากเงินที่รวมกันแล้ว แต่อย่างไรก็ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นแล้ว ถ้าหากคุณไม่ได้วางแผนภาษีดี ๆ มาก่อน ก็อาจจะไม่เหลือกระทั่งเงินเก็บเลยก็เป็นได้
การวางแผนภาษีง่าย ๆ ที่พนักงานเงินเดือนมือใหม่ควรรู้
สำหรับพนักงานเงินเดือนมือใหม่ อาจคิดเพียงแต่ว่าให้บริษัทหรือองค์กรต้นสังกัดจัดการวางแผนภาษีให้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรและเป็นความสะดวกของผู้ที่ทำงานให้บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ที่จะมีผู้ดำเนินการหักภาษีจากรายได้ของคุณ ส่งตรงให้กับสรรพากรเลย แต่รู้หรือไม่ว่าคุณสามารถที่วางแผนภาษี เพื่อให้เงินที่ถูกหักไปกลับมาเพิ่มพูนในกระเป๋าคุณได้ และจะทำให้คุณมีเงินออมรวมถึงสามารถนำเงินไปลงทุนต่อยอดต่าง ๆ ได้อีกด้วย
-
รู้อัตราภาษีเงินได้ให้ชัดแจ้ง
เมื่อคุณมีรายได้มีเงินเดือนแล้ว ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณได้เงินเดือนน้อยตามประสาพนักงานเงินเดือนมือใหม่หรือเพิ่งเริ่มจากจุด Start ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เนื่องจากภาครัฐนั้นจะคิดจากรายได้ทั้งปีของคุณหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพื่อนำมาคิดภาษี หรือก็คือหากคุณมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 150,000 บาท การวางแผนภาษีก็คงไม่จำเป็น เพราะภาครัฐจะยกเว้นให้ จนกว่าคุณจะมีรายได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ
ซึ่งหลังจากที่คุณมีเงินเดือนมากกว่า 150,000 บาทต่อปี ภาษีเงินได้ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดไปด้วย ดังต่อไปนี้
-
- 1 – 150,000 บาทต่อปี ได้รับการยกเว้นภาษี
- 150,001 – 300,000 บาทต่อปี ภาษี 5%
- 300,001 – 500,000 บาทต่อปี ภาษี 10%
- 500,001 – 750,000 บาทต่อปี ภาษี 15%
- 750,001 – 1,000,000 บาทต่อปี ภาษี 20%
- 1,000,001 – 2,000,000 บาทต่อปี ภาษี 25%
- 2,000,001 – 5,000,000 บาทต่อปี ภาษี 30%
- 5,000,001 บาทขึ้นไป ภาษี 35%
-
รู้จักกับการลดหย่อนภาษี
ถ้าหากคุณเป็นพนักงานเงินเดือนผู้มีรายได้ต่อปีมากกว่า 150,000 บาท การวางแผนภาษีเพื่อลดหย่อนเอง ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่นับว่าเป็นการเลี่ยงภาษี ไม่จำเป็นต้องเสียค่าปรับใด ๆ ย้อนหลัง เนื่องจากการลดหย่อนภาษีนั้น เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้คุณใช้รายได้เพื่อการเก็บออมในกองทุน หรือเพื่อการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ซึ่งการลดหย่อนภาษีนั้น สามารถทำได้หลายกรณี ตัวอย่างเช่น
-
- กรณีที่คู่สมรสของคุณไม่มีรายได้
- กรณีที่บุตรกำลังศึกษาเล่าเรียน โดยอายุไม่เกิน 25 ปี
- กรณีที่มีการฝากครรภ์หรือคลอดบุตร
- กรณีที่อุปการะพ่อแม่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้น
- กรณีที่อุปการะผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ
- กรณีที่มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกิน 500,000 บาท
- กรณีที่มีเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไม่เกิน 15% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 200,000 บาท
- กรณีที่มีดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาท
- ฯลฯ
ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังมีวิธีที่สามารถลดหย่อนภาษีได้อีกมากมาย หรือบางกรณีก็สามารถใช้ลดหย่อนร่วมกันได้ ดังนั้น ถ้าหากคุณวางแผนภาษีและลดหย่อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากพอ รับรองว่าจะเหลือเงินเก็บออมและเงินลงทุนต่อยอดต่าง ๆ ได้อีกมากมายอย่างแน่นอน
-
รู้จักกับช่องทางยื่นภาษี
สุดท้ายเมื่อคุณสามารถคำนวณอัตราภาษีของตนเอง หรือวางแผนภาษีเพื่อลดหย่อนได้เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายก็ต้องรู้ว่าควรยื่นภาษีอย่างไร ช่องทางไหน เมื่อไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการยื่นเมื่อไร จำเป็นต้องจดจำไว้ให้ดีว่าควรยื่นแบบแสดงรายการภาษีช่วงเดือนมีนาคม ยิ่งถ้าหากมีรายการลดหย่อนที่จะได้เงินภาษีกลับคืนเข้ากระเป๋า ก็จำเป็นต้องแสดงรายการต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมจะเป็นการดีที่สุด เนื่องจากมีการดำเนินการที่ต้องใช้เวลานาน ยิ่งในตอนนี้เราสามารถยื่นภาษีกับเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้แล้ว ก็สามารถยื่นภาษีได้ตรงต่อเวลามากขึ้น แต่ถ้าคุณเผอเรอจนเลยเวลายื่นภาษีขึ้นมา ค่าปรับ 1.5% ต่อเดือนจะทำให้แผนการเงินของคุณรวนอย่างแน่นอน
แต่ถ้าคุณอยากที่จะทำงานอย่างสบายใจ ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องเงินเดือนหรือการวางแผนภาษี ก็สามารถมองหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหรือการเงินมาช่วยคุณได้ที่เว็บไซต์ fastwork เว็บที่เต็มไปด้วยฟรีแลนซ์ที่มีทั้งทักษะ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่จะทำให้การเงินของคุณเป็นเรื่องง่ายได้ภายในพริบตา