บ่อยครั้งที่เราอยากที่จะเริ่มต้นธุรกิจหรือขายสินค้า เว็บไซต์ถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกนึกถึง เนื่องจากเป็นสื่อที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เราต้องการจะนำเสนอได้ครบถ้วน เข้าถึงได้ง่าย ถึงยังงั้นก็ตามเราก็มักจะนึกไม่ออกว่าควรจะเริ่มต้นจากจุดไหนดี ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่เราเพิ่งจะเริ่มต้นด้วยแล้ว ก็มักจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนั้นๆ วันนี้เราได้รวบรวมหัวข้อที่จะช่วยให้เราต่อยอดไอเดีย เริ่มทำเว็บไซต์เบื้องต้นมาให้ได้ลองดูกัน
1.จุดประสงค์ของการมีเว็บไซต์คืออะไร?
นี่คือสิ่งที่จะต้องคิดเป็นอันดับแรกๆ และมันจะแตกออกไปเป็นคำถามอีกมากมาย หากว่าเราต้องการที่จะมีเว็บไซต์แล้ว เราจำเป็นที่จะต้องนึกด้วยว่าจะให้เว็บไซต์นั้นทำอะไรให้เรา ยกตัวอย่างเช่น
มีสินค้าอยากจะขายก็ทำเว็บสำหรับขายสินค้า ในเว็บก็จำเป็นที่จะต้องมีหน้าสำหรับแสดงสินค้า รายละเอียดสินค้าให้ลูกค้ามาดู
หรือว่าเจอปัญหาในการให้รายละเอียดสินค้ากับลูกค้า เนื่องจากสินค้าค่อนข้างมีรายละเอียดทางเทคนิคเยอะ เว็บไซต์ก็เข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
อีกตัวอย่างก็คือหากเป็นธุรกิจเกี่ยวกับงานบริการ อย่างเช่น บริการรับจ้างทำความสะอาด เว็บไซต์ก็จำเป็นจะต้องมีแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลรายละเอียดให้ลูกค้าได้จองการใช้บริการ เป็นต้น
2.ถ้ายังงั้นแล้วในเว็บไซต์ควรจะมีอะไรบ้าง?
เราควรจะเพิ่มรายละเอียดเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์กับจุดประสงค์ที่เราได้กำหนดเอาไว้ เว็บไซต์ที่ดีไม่จำเป็นที่จะต้องมีฟังก์ชั่นหรือลูกเล่นทุกอย่างจากเว็บไซต์ยอดฮิต แต่เป็นเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เราได้วางเอาไว้
เช่น หากเราวางเป้าหมายไว้ว่า กลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้เว็บไซต์จะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนในธุรกิจของเรา เพราะฉะนั้นเว็บไซต์ก็ควรจะมีรายละเอียดของบริษัทมากพอที่จะจูงใจให้ผู้อ่านคล้อยตามวัตถุประสงค์ของบริษัทได้
จากนั้นเราก็ต่อยอดจากจุดนี้ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามได้มีอะไรบ้าง เช่น
- รูปภาพกิจการที่แสดงถึงความมั่นคงของบริษัท เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
- คลิปวีดีโอนำเสนอรายละเอียดของบริษัท
- ภาพแสดงขั้นตอนการผลิตหรือแผนงานต่างๆ
สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์มากขึ้น ตรงกันข้ามหากเราไปเพิ่มฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็นเช่น ใส่เพลงลงไปในเว็บ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้วยังสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้อีกด้วย
3.แล้วเราควรจะลงมือทำเองหรือว่าจ้างมืออาชีพทำดี?
แต่ละแบบก็มีข้อดีต่างกันไป การลงมือทำด้วยตัวเองสิ่งที่ได้จะตรงความต้องการของเราผู้ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ ระยะยาวแล้วก็สามารถนำเอาทักษะที่ได้ไปเพิ่มเติมอย่างอื่นได้อีกด้วย
การจ้างมืออาชีพทำข้อดีคือ ประหยัดเวลา เราเพียงแต่บอกสิ่งที่เราต้องการ จากนั้นเราก็ไปพัฒนาเกี่ยวกับด้านอื่นของธุรกิจที่เราถนัด
ในปัจจุบันตัวเลือกในการทำเว็บมีอยู่หลายแบบ หนึ่งในนั้นคือ WordPress ที่เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เนื่องจากใช้เวลาในการทำไม่นานมาก มีรูปแบบเทมเพลทให้เลือก มีเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลหลากหลาย เพราะฉะนั้นแล้วปัญหาที่เราเจอ มักจะมีตัวเลือกสำเร็จรูปให้เราได้เลือกใช้อยู่เสมอ
4.จะวัดผลได้อย่างไรว่าเราเดินมาถูกทางไหม?
ปัญหาของการทำเว็บไซต์ก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราทำนั้นบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม สมัยก่อนเรามักจะวัดความสำเร็จจากตัวเลขยอดเข้าชมเว็บไซต์ ถ้ามันเพิ่มขึ้นก็อนุมานว่าสิ่งที่เราเพิ่มไปมันดี
ปัจจุบันแนวทางการวัดผลเว็บไซต์ได้พัฒนาไปเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลอย่างมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Google Analytic แนวทางในการใช้งานนั้นประยุกต์ได้หลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น เราอยากจะวัดผลว่าบทความที่เราเขียนบรรยายถึงข้อดีของสินค้าที่เราขายนั้น ส่งผลให้เราขายสินค้าชิ้นนั้นได้มากขึ้นจริงหรือไหม
Google Analytic สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าหลังจากคนเข้ามาอ่านแล้ว ผู้อ่านได้คลิกลิงค์ไปยังสินค้าที่เราได้วางไว้ในบทความหรือไม่ และได้ทำการสั่งซื้อหรือไม่ และจะรายงานรายละเอียดพวกนี้ออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะช่วยให้เราพิจารณาได้ว่าหากจำนวนผู้อ่านบทความเยอะ แต่ไม่มีคนคลิกลิงค์ไปยังสินค้าเลย สาเหตุอาจจะมาจากอะไรได้บ้าง เช่น ปุ่มสินค้าไม่เด่นพอ, ผู้อ่านไม่เห็นปุ่มสินค้า หรือกระทั่งปุ่มลิงค์สินค้าที่เราใส่ไปอาจจะใช้งานไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราพัฒนาเว็บไซต์ของเราได้อย่างเป็นระบบและมีตัวเลขที่อ้างอิงได้
5.ควรดูแลและปรับปรุงเว็บไซต์แบบไหน?
เว็บไซต์ก็เหมือนกับรถ เมื่อซื้อเสร็จก็ต้องมีค่าบำรุงรักษา ปัจจุบันเทคโนโลยีในส่วนของการทำเว็บไซต์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การที่เว็บเราทำงานได้ปกติไม่ได้หมายถึงเราไม่จำเป็นต้องมีคนดูแลเว็บไซต์ ค่าบำรุงรักษาที่จะต้องจ่ายอยู่เรื่อยๆ ก็จะมีค่าโดเมนเนม ค่าโฮสติ้งสองอย่างนี้ที่จะต้องจ่ายเป็นรายปี
นอกจากนั้นค่าดูแลรักษาอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น WordPress จะออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ มาอยู่ตลอดปี ซึ่งเวอร์ชั่นใหม่ๆ เหล่านี้มักจะมาพร้อมกับฟังก์ชั่นเพิ่มความปลอดภัยต่างๆ ให้กับเว็บไซต์ การอัพเดทเวอร์ชั่นเหล่านี้ ควรจะมีมืออาชีพดูแลและให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ
การเพิ่มฟังก์ชันให้กับเว็บไซต์ควรพิจารณาจากความจำเป็น และควรมีสิ่งที่วัดผลได้ว่าอะไรที่เพิ่มเข้าไปนั้น ผู้ใช้งานและเจ้าของธุรกิจได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ควรเพิ่มหลายฟังก์ชั่นในคราวเดียว เพราะระยะเวลาในการพัฒนาจะนานยิ่งขึ้นและเสี่ยงที่จะปิดงานได้ยาก
Written by Freelance Fastwork: ฉัตรพล
สนใจจ้างงานฟรีแลนซ์ได้ที่ https://fastwork.co/user/bluenightz/web-development-49013471