เชื่อว่าหลายคนรู้จักและคุ้นเคยกับร้าน MUJI (มูจิ) แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นที่จำหน่ายของใช้สไตล์มินิมอล และมีสาขาทั่วโลกกว่า 1,000 แห่ง แม้ว่ามูจิจะมีจุดเด่นที่ชัดเจนและเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่การเข้าสู่ตลาดในสหรัฐอเมริกาของ MUJI นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
MUJI ต้องเผชิญกับสภาวะตลาด USA ที่มีการแข่งขันสูง มีคู่แข่งเป็นแบรนด์ระดับท็อปๆ อย่าง IKEA และยังไม่นับรวมแบรนด์น้องใหม่มาแรงที่เจาะกลุ่มตลาดคล้ายๆ กันอีกด้วย ซึ่งหลังจากปรับตัวไปสักระยะหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องถอยทัพโบกมือลาตลาดอเมริกาอย่างถาวร
ถอดบทเรียน – เหตุผลอะไรที่ทำให้ MUJI USA ล้ม จนต้องเลิกกิจการ?
การจดจำแบรนด์
แบรนด์ MUJI ในตลาดอเมริกา ถือว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก (เมื่อเทียบกับในประเทศอื่นๆ) การสร้างฐานลูกค้าใหม่และทำให้ลูกค้าเชื่อใจจึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มูจิต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และทำให้ผู้บริโภคจดจำให้ได้
การออกแบบและการวางผังร้านค้า
การจัดวางผังร้านค้าของ MUJI ในสหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยเป็นที่พึงพอใจของลูกค้ามากนัก ลูกค้าบางส่วนให้ความเห็นว่า การออกแบบร้านดูรกและเดินลำบาก เป็นประสบการณ์ใช้งานที่ไม่ประทับใจ ซึ่งจุดนี้มีผลกับความมั่นใจและเชื่อใจของลูกค้าโดยตรง และส่งผลเชิงลบต่อแบรนด์เต็มๆ
การตั้งราคาสินค้า
สินค้าของ MUJI ถูกมองว่าราคาแพงเกินไปสำหรับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป้าหมายของแบรนด์ที่วางไว้คือ “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ในราคาย่อมเยา” แต่ผลลัพธ์กลับถูกมองว่าราคาสินค้านั้นแพงเกินไป
การปรับให้เข้ากับท้องถิ่น (Localization)
ภาพลักษณ์ของสินค้า MUJI คือความเรียบง่าย และมูจิยังคงเอกลักษณ์นี้ไว้ในการบุกตลาดอเมริกา แต่ลูกค้าในตลาดอเมริกากลับไม่ได้ชื่นชอบจุดขายนี้สักเท่าไหร่ จึงกลายเป็นว่ารูปแบบของผลิตภัณฑ์ไม่เข้ากับความต้องการของตลาด จุดนี้ทำให้แบรนด์เข้าถึงใจผู้บริโภคได้ยาก
บทสรุป
ทั้งหมดนี้เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจตลาดท้องถิ่น และการปรับตัวให้ตรงกับความต้องการและความพึงพอใจของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่แบรนด์ต่างๆ จะต้องทำการบ้านอย่างรอบคอบคือ โอกาสและความท้าทายของแต่ละตลาด และต้องมีการวางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของแบรนด์ให้เข้ากับภูมิภาคนั้น เพื่อให้แบรนด์สามารถครองใจผู้บริโภคในตลาดนั้นได้สำเร็จ