ฟรีแลนซ์ หรือ อาชีพอิสระ ที่หลายคนมองว่าไม่ต้องทำงานเป็นเวลา ไม่มีกฎเกณฑ์ในการทำงาน และมีอิสระมากกว่ามนุษย์เงินเดือนทั่วไป ฟังดูแล้วเหมือนคล้ายว่าจะเป็นอาชีพที่สบาย แค่ทำงานให้ทันที่ลูกค้าจ้างงานก็ได้รับเงินไปโดยไม่ต้องรอให้ถึงสิ้นเดือน จนกลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คนที่กำลังเบื่อหน่ายกับงานประจำ แต่ทราบหรือไม่ว่าอิสระที่ได้มานั้น จะต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบในตัวเองสูงมากเช่นกัน ยิ่งในเรื่องการวางแผนการเงินยิ่งต้องเคร่งครัดมากกว่าอีกด้วย เนื่องจากความไม่คงที่ของรายได้และไม่สามารถคาดการณ์รายได้ในอนาคตในระยะยาวได้ การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ รวมถึงเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นที่มาของเนื้อหาในบทความนี้ ที่ Fastwork จะมานำเสนอ How to เริ่มต้นวางแผนการเงินฉบับมนุษย์ฟรีแลนซ์ ให้กับเหล่าบรรดาฟรีแลนซ์หน้าใหม่กันค่ะ
1. วางแผนการเงินด้วยการจดบันทึกและตรวจสอบค่าใช้จ่าย
การจดบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละวันคือก้าวแรกในการเริ่มต้นวางแผนการเงินของมนุษย์ฟรีแลนซ์ รวมไปถึงมนุษย์เงินเดือนด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าฟรีแลนซ์จะไม่มีรายได้ที่คงที่ในทุกๆ เดือนให้ได้คำนวณ แต่ก็เป็นการจดบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อสามารถนำกลับมาตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า รายได้และรายจ่ายมีความสมดุลกันหรือไม่อย่างไรบ้าง ในกรณีที่บางเดือนอาจมีรายได้น้อยจะได้สามารถจัดสรรเงิน ประมาณค่าใช้จ่ายคงที่ที่จำเป็น และแบ่งส่วนที่มากกว่าในกรณีที่ในเดือนที่มีรายได้มาก เพื่อวางแผนการเงิน บริหารเงินออม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ โดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
-
- ค่าใช้จ่ายคงที่
ค่าใช้จ่ายส่วนสำคัญที่จะต้องจ่ายทุกๆ เดือน เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจัดสรรไว้เพื่อจ่ายในแต่ละเดือนเท่าๆ กัน เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนคอนโด ค่าโทรศัพท์รายเดือน ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนชำระสินค้าต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละบุคคลจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ที่แตกต่างกันไป การแยกค่าใช้จ่ายคงที่ในการวางแผนการเงิน จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกเมื่อมีรายรับเข้ามา
-
- ค่าใช้จ่ายแปรผัน
ในการวางแผนการเงินของฟรีแลนซ์ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ต้องควบคุมให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่แปรผันได้ตามพฤติกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้หากไม่ควบคุมพฤติกรรมการใช้จ่ายให้ดี เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ ค่าสังสรรค์ ค่าท่องเที่ยวพักผ่อน ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
-
- เงินออมและลงทุน
ในส่วนนี้เป็นการวางแผนการเงินที่ใช้เพื่อการต่อยอดในอนาคตและเพื่อสำรองในการใช้ชีวิต เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันที่ฟรีแลนซ์จะต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษ เนื่องจากจะต้องอาศัยวินัยในการออมและลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแตกต่างจากเหล่าพนักงานประจำที่มีการหักเงิน หรือ เป็นการบังคับ ในบางส่วนจากบริษัทอยู่แล้ว เป็นการออมเพื่อเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น เงินดาวน์รถ เงินดาวน์บ้าน เงินออมเพื่อเกษียณ ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดคือฟรีแลนซ์เป็นการทำงานอิสระที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ด้านการเงินด้วยตนเอง พร้อมทั้งมีวินัยในการออม หรือ ลงทุน อย่างเคร่งครัดกับตัวเองมากกว่า
2. วางแผนการเงินด้วยการสำรองเงินฉุกเฉิน
เมื่อทราบค่าใช้จ่ายคงที่ของตนเองแล้ว ลำดับต่อมาที่ฟรีแลนซ์จะต้องวางแผนการเงินให้รอบคอบก็คือ การมีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน หรือ ช่วงที่ขาดรายได้ เนื่องจากเป็นหลักประกันให้ชีวิตของคุณได้ดีกว่า เผื่อไว้ในวันช่วงที่ไม่ได้รับรายได้ หรือ ป่วยจนไม่สามารถรับงานได้เป็นเวลานาน คุณจะต้องมีเงินสำรองเพียงพอต่อการใช้จ่ายอย่างน้อยๆ 3-6 เดือน ให้ได้สามารถนำเงินสำรองมาใช้จ่ายทดแทนได้นั่นเอง
3. วางแผนการเงินด้วยหลักประกันต่างๆ
การสร้างหลักประกันให้กับชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีไว้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าเมื่อในยามที่ต้องขาดรายได้ เจ็บป่วย สุขภาพไม่แข็งแรง หรือ แก่ชรา คุณจะได้รับสิทธิที่พึงมีในการเยียวยาตนเองในอนาคต โดยพื้นฐานที่ควรมีไว้คือสิทธิประโยชน์จากรัฐบาล ผ่านกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 39 สำหรับกรณีที่เคยเป็นพนักงานประจำมาก่อน หรือ มาตรา 40 สำหรับกรณีที่ไม่มีนายจ้าง เพื่อสิทธิประโยชน์เป็นหลักประกันด้านสุขภาพ ชราภาพ และกรณีอื่นๆ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถใช้ในการวางแผนการเงินเพื่อสิทธิรับเงินบำนาญ คือ สามารถสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เพื่อสร้างหลักประกันได้อีกทางหนึ่ง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือสามารถเลือกวางแผนการเงินด้วยหลักประกันนอกเหนือจากรัฐก็ได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและรจุดประสงค์ที่ต้องการ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เป็นต้น
4. วางแผนการเงินในระยะยาวด้วยการออมและลงทุน
การออมเงินและการลงทุนเป็นการวางแผนการเงินที่ช่วยให้ฟรีแลนซ์ มีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวมากกว่า ดังนั้นการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและลงมือทำอย่างมีวินัยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเงินออมทั่วไปแล้วการลงทุนจะช่วยให้เงินงอกเงยได้ดีกว่า แนะนำให้หาความรู้ด้วยตนเองพร้อมทั้งทำความเข้าใจอย่างละเอียดก่อนการลงทุน เพื่อเพิ่มความรอบคอบให้กับการเงินของตนเอง ตัวอย่างการลงทุนที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้น เช่น การฝากประจำ กองทุนรวม ตราสารหนี้ ตราสารทุน เป็นต้น
5. วางแผนการเงินในส่วนของการจ่ายภาษี
รายได้ของอาชีพอิสระจัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) ในประมวลรัษฎากร ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ซึ่งการคำนวณภาษีในเงินได้ประเภทที่ 2 นี้ ใช้เกณฑ์อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกันกับมนุษย์เงินเดือน ได้แก่
-
-
- เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
- เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
- เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%
- เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%
- เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
- เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
- เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
- เงินได้สุทธิ มากกว่า 5,000,001 บาท อัตราภาษี 35%
-
ดังนั้นหากคุณมีการวางแผนการเงินที่ดีและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษีเงินได้ จะช่วยให้การจัดการเงินในแต่ละเดือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เสียภาษีมากกว่าที่จำเป็นนั่นเอง
สำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่มีเป้าหมายในการเริ่มต้นวางแผนการเงินของตัวเอง แต่ยังไม่มีแนวทางการวางแผนเพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ได้อย่างเหมาะสม การเลือกใช้บริการนักวางแผนการเงินที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินโดยตรงจาก Fastwork.co นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ประหยัดเวลาในการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองมากขึ้นหลายเท่า ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามความเสี่ยงที่คุณสามารถรับได้อีกด้วย