วิธีตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง ทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด

วิธีตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง ทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด

ตรวจรับบ้านก่อนทำการเซ็นโอนกรรมสิทธิ์เป็นสิ่งหลายคนกังวลใจ เพราะฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่หลายคนไม่มั่นใจว่าจะทำเองได้จริงหรือ ถ้าไม่มีคนเชี่ยวชาญตรวจรับบ้านให้ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าบ้านเรียบร้อย 100% ไม่ว่าจะเป็นระบบภายในบ้าน โครงสร้าง และรายละเอียดด้านแบบบ้านต่างๆ ถ้าไม่มีความรู้ด้านนี้เลยก็ไม่แปลกที่จะสงสัยว่าทำเองได้จริงๆ หรือเปล่า บทความนี้เราจะบอกว่าการตรวจรับบ้านด้วยตัวเองคุณก็สามารถทำได้ไม่ยาก ไปดูกันว่าคุณต้องเตรียมตัวอย่างไรและมีวิธีการอย่างไรบ้าง

การตรวจรับบ้านก่อนโอนกรรมสิทธิ์คืออะไร?

          การตรวจรับบ้าน คือ ขั้นตอนสุดท้ายในการพิจารณาความพร้อมของบ้านก่อนการเซ็นรับโอนกรรมสิทธิ์บ้าน เป็นการตรวจสอบบ้านอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้าง ระบบภายใน-ภายนอก การก่อสร้าง และวัสดุ ตรงตามการออกแบบ สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีความสมบูรณ์ ไม่มีจุดบกพร่อง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ซื้อบ้าน เพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมแซมที่อาจตามมาในภายหลัง หากพบว่าระหว่างการตรวจรับบ้านมีจุดที่ควรแก้ไข คุณมีอำนาจในการสั่งแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ทันที

การเตรียมตัวก่อนตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง

          ก่อนเริ่มตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง คุณจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งในด้านของการศึกษาสัญญาการซื้อขายให้ละเอียด ทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางประกอบการตรวจรับบ้านร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคุณที่ควรได้รับ รวมไปถึงการกำหนดวันและเวลาในการตรวจรับบ้านที่ควรอ้างอิงจากเวลาว่างของคุณ ที่ควรให้เวลากับการตรวจรับบ้านทั้งวันโดยไม่ต้องรีบ หรือ มีธุระอื่นๆ รออยู่ ให้คุณได้มีเวลามากเพียงพอในการตรวจสอบบ้านอย่างถี่ถ้วนจนมั่นใจในความสมบูรณ์พร้อมรับโอน 100% นอกจากนี้คุณควรศึกษาทำความเข้าใจวิธีการตรวจรับบ้านที่เหมาะสม พร้อมกับหาเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้ไปตรวจบ้านด้วยอย่างน้อย 1 คน เพื่อช่วยให้การตรวจสอบมีความครอบคลุมมากที่สุด

วิธีตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการตรวจรับบ้าน

  • แบบแปลนบ้าน : ใช้ในการเปรียบเทียบ ตรวจสอบ ว่าโครงสร้างต่างๆ เป็นไปตามผังหรือไม่
  • Checklist : Checklist ที่ต้องการตรวจรับบ้าน เพื่อเริ่มลำดับการตรวจให้ครบถ้วน ป้องกันการตกหล่นในจุดสำคัญต่างๆ 
  • ตลับเมตร : อุปกรณ์สำคัญสำหรับการตรวจวัดขนาดของโครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ว่าเป็นไปตามแบบแปลนที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่ ไม่ควรใช้การกะ หรือ การประเมิน ด้วยสายตา เพราะอาจมีความผิดพลาดที่คุณไม่ได้สังเกต สิ่งสำคัญคือควรวัดละเปรียบเทียบแปลนควบคู่ไปด้วยและจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกรณีที่พบว่าไม่ตรงตามแบบ
  • กล้องถ่ายรูป : หรือสามารถใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพมุมต่างๆ เก็บไว้ เพื่อบันทึกไว้
  • กระดาษ-ปากกา : ใช้ในการจดบันทึก หรือ จดประเด็นต่างๆ ที่ต้องการสอบถามเพิ่มเติม
  • ไขควงวัดไฟ และ ถุงมือยาง : ใช้ในการตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งควรสวมถุงมือยางทุกครั้งในการตรวจเพื่อเป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า
  • กระดาษโน้ตกาว : ใช้กำหนดจุดที่ต้องแก้ไข หรือ ต้องการตรวจสอบเพิ่มเติม

วิธีตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง

การตรวจรับบ้านต้องเช็คอะไรบ้าง?

  • งานโครงสร้าง

งานโครงสร้างบ้านถือว่าเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับการตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง ยิ่งถ้าใครที่ไม่มีความรู้ด้านการก่อสร้างด้วยแล้วอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป ประกอบกับเมื่อมีการสร้างบ้านเสร็จสิ้นแล้วตัวโครงสร้างก็ยากในการตรวจสอบ แต่คุณสามารถตรวจสอบโครงสร้างเสา กำแพง ว่าไม่มีมีความเอียง ไม่มีรอยแตกร้าว หรือ ไม่มีความผิดปกติใดๆ นอกเหนือจากแปลนหรือไม่

  • หลังคา

ตรวจสอบหลังคาว่ามีการติดตั้งฝ้าเพดานได้สมบูรณ์ดี มีความเรียบเนียนดีหรือไม่ ไม่มีรอบแตก โก่งนูน ไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่นฝ้า และกระเบื้องหลังคามีการปูไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีการรั่วซึมของน้ำ วัสดุตรงตามสเปคที่กำหนด

  • ฝ้าเพดาน

ตรวจรับบ้านบริเวณฝ้าเพดานว่ามีการติดตั้งสมบูรณ์แข็งแรงดี ติดได้เรียบเนียน ไม่มีรอยนูน รอยโค้งโก่ง ไม่มีการรั่วซึมของน้ำฝน งานสีเรียบเสมอกัน

  • ประตู-หน้าต่าง

ประตูและหน้าต่างเป็นจุดที่ง่ายในการตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง ด้วยการทดลองเปิด-ปิด ทดสอบการล็อกกลอนว่าใช้งานได้ปกติหรือไม่ ไม่ติดขัด ประตูไม่ขูดกับพื้น เปิดไม่มีเสียง ปิดได้สนิทไม่มีช่องว่าง

  • ระบบไฟฟ้า

ตรวจสอบระบบไฟฟ้าทั้งภายใน-ภายนอกบ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถเปิดใช้งานได้ปกติ ควรเปิดใช้งานไฟฟ้าทุกจุดเมื่อตรวจรับบ้าน สำรวจระบบไฟฟ้าทุกจุดของบ้าน หลอดไฟเปิดได้ แสงไฟสว่าง ไม่มีการกะพริบ และที่สำคัญควรตรวจสอบเต้ารับสวิตช์ไฟว่าทำงานได้จริง พร้อมกับทดสอบการทำงานของเบรกเกอร์ ด้วยการเปิดปิดเพื่อตรวจว่าหยุดไฟได้เรียบร้อยดีหรือไม่

  • ระบบน้ำ

ตรวจสอบระบบน้ำด้วยการทดสอบเปิด-ปิดน้ำทุกจุด สังเกตว่ามีการรั่วซึมบริเวณแนวท่อหรือไม่ น้ำไหลปกติไม่ติดขัด ควรตรวจรับบ้านด้วยความรอบคอบทั้งระบบน้ำภายในและภายนอก ตรวจดูความเรียบร้อยของท่อ ก๊อกน้ำ ปั๊มน้ำ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีความสมบูรณ์ในการใช้งานดี

  • งานผนัง

ตรวจสอบงานผนังทั้งภายในและภายนอกบ้านว่ามีการฉาบที่เรียบเนียนดีหรือไม่ งานสีผนังต้องมีความสม่ำเสมอกัน หากเป็นผนังกระเบื้องจะต้องปูได้เรียบร้อยเสมอกัน ปูได้สนิทต่อกันเป็นแนวเดียว ผนังไม่มีรอย ไม่มีรู หรือ มีความผุพัง

  •  งานเหล็กและวัสดุอะลูมิเนียม

ก่อนตรวจรับบ้านจะต้องไม่ลืมดูความเรียบร้อยของงานเหล็กและวัสดุอะลูมิเนียม ซึ่งอาจมีการใช้วัสดุในแต่ละส่วนของบ้านแตกต่างกันไป ควรตรวจสอบว่าไม่มีสนิม มีการทาสีกันสนิมป้องกันไว้เรียบร้อยแล้ว งานเหล็กมีความทนทานแข็งแรงเป็นไปตามแบบแปลน

  • บันได

ตรวจรับบ้านบริเวณบันไดทุกส่วนของบ้าน โดยในส่วนของราวบันไดต้องใช้งานได้ มีความแข็งแรง ไม่บิดเบี้ยว เอียง วัสดุคงทน มีการติดตั้งอย่างแน่นหนา ขั้นบันไดมีความสูงเท่ากันทุกขั้น มีความเรียบตรง ไม่โค้งโก่ง ติดตั้งได้สนิท ไม่เป็นอันตราย

รับตรวจรับบ้าน คอนโด

          เห็นไหมล่ะว่า การตรวจรับบ้านด้วยตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเองเพียงทำตามวิธีที่เราได้รวบรวมไว้ให้อย่างครบถ้วนไม่กี่ข้อเท่านั้น แต่ถ้าใครที่ยังไม่มั่นใจและอยากให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจรับบ้านแทนคุณ บริการจาก Fastwork ช่วยคุณได้! โดยฟรีแลนซ์วิศวกรที่มีประสบการณ์โดยตรง สามารถให้คำแนะนำคุณได้แบบเป็นกันเอง ที่สำคัญคือคุณจะได้รับบ้านพร้อมโอนที่สมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป

 

ฟรีแลนซ์ในหมวด Uncategorized

Related Posts
This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.